#เงินถุงแดง ;
#พระสยามเทวาธิราชองค์จริง
ข้อควรนำมาวิเคราะห์ใหม่
จีนในรัชสมัยรัชกาลที่3 ได้พ่่ายแพ้แก่อังกฤษไปแล้ว อินเดียและพม่าก็เช่นกัน เวียดนามเองก็กำลังตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสจนต้องประกาศเลิกรบกับสยาม...การค้าขายโดยในหลวงรัชกาลที่3 กระทั่งสามารถคานการรุกล่าอาณานิคมของมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ไม่มีการเพลี่ยงพล้ำ จากหลักฐานเงินในถุงแดงที่มากด้วยเหรียญทองเปโซ ควรเป็นการค้าอิงอำนาจถ่วงดุลโดยสเปญมากกว่าที่จะค้าขายกับจีน ตามประวัติศาสตร์ที่ยัดเยียดให้เรียนตามๆกันมา ครับ.
..... ..... .....
Cr. เพจย้อนรอยประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในสยาม
โพสต์ 19 พฤศจิกายน 2014 10:13 น.
เงินถุงแดง เรื่องนี้แอดมินเคยนำเสนอแล้ว แต่ข้อมูลนี้จะละเอียด
มากกว่าค่ะ เลยขอนำเสนออีกครั้ง เพื่อการศึกษาของน้องๆเยาวชน
รุ่นใหม่ และรุ่นเก่าค่ะ.และอาจจะนำเสนอเรื่อยๆไป เพื่อการศึกษาค่ะ
โดย..สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี *
เรื่องของเงินถุงแดง เป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ที่มีการเล่าสืบต่อกันมาแต่ไม่ปรากฏหรือมีการบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารฉบับใดอย่างชัดเจน โดยมีการเล่าต่อกันมาว่า เงินถุงแดงเป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้จากกำไรการค้าสำเภา ทั้งสำเภาหลวงและสำเภาส่วนพระองค์ เงินที่ได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์ก็จะทรงเก็บสะสมไว้นำใส่ถุงผ้าสีแดงแยกเป็นถุง ปิดปากถุงเก็บเข้าในหีบกำปั่นข้างพระแท่นบรรทม ทรงเก็บสะสมไว้จนมีจำนวนมากขึ้นทุกปี นับเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นอกเหนือจากเงินในท้องพระคลังหลวง (พระคลังมหาสมบัติ) ทรงพระราชทานเป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน
ในเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศามหาโกษาธิบดี ได้กล่าวถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญเมื่อใกล้สวรรคตพระราชทานแก่ขุนนาง ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าฯ ไว้ว่า "การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใยได้หมด อาลัยแต่วัดวา สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายในราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่งนี้ ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิดให้ไว้บำรุงวัดวาที่ยังค้างอยู่" 1
จากพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของรัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นภัยคุกคามเอกราชสยามจากชาติตะวันตกในยุคนั้น ทรงห่วงใยบ้านเมืองและวัดวาอารามที่ทรงสร้างขึ้นไว้ให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๓ ข้างต้นนั้นจึงน่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเก็บเงินถุงแดงของพระองค์ด้วย แต่ในพระราชดำรัสจำนวนเงิน ๔ หมื่นชั่ง ที่ทรงขอไว้ ๑ หมื่นชั่ง เป็นเงินในพระคลัง และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงซ่อม พระอารามจากเงินในพระคลังที่รัชกาลที่ ๓ โดยใช้เงินที่ทรงขอไว้2 ดังนั้นเงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่เงินถุงแดง เพราะในพงศาวดารระบุชัดเจนว่าเป็นเงินในพระคลังไม่ใช่เงินส่วนพระองค์ที่ทรงเก็บไว้ (ถ้าหากเป็นเงินถุงแดงจะมีเงินที่เหลือจากซ่อมอาราม ๓ หมื่นชั่ง คิดเป็นเงินฝรั่งเศสเป็นเงิน ๔ ล้านห้าแสนฟรังก์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเงินค่าปรับ๓ ล้านฟรังก์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไม่ต้องนำไปสมทบกับเงินในพระคลังและเงินบริจาคของเจ้านาย) ในสมัยนี้ลัทธิล่าอาณานิคมได้แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากลัทธิดังกล่าวโดยเริ่มเสียดินแดนบางส่วนให้กับชาติตะวันตกที่เข้ามาล่าอาณานิคม จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมทวีความรุนแรงขึ้น เงินถุงแดงจึงมีส่วนช่วยรักษาเอกราชของสยามประเทศไว้ได้ในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เรื่องราวของเงินถุงแดงจึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจ
ความหมายของเงินถุงแดง
เงินถุงแดง คือ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ได้จากการค้าสำเภาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมี พระปรีชาสามารถในด้านการจัดการค้าสำเภา และทรงเก็บสะสมกำไรจากการค้าสำเภา ทั้งสำเภาหลวงและสำเภาส่วนพระองค์ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ.๒๓๖๗3 ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ในรัชสมัยของพระองค์การค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทรงเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากการค้าส่วนพระองค์ไว้เป็นจำนวนมากโดยเก็บใส่ "ถุงผ้าสีแดง" ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า "เงินข้างที่"4 ซึ่งต่อมามีจำนวนมากเข้าก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม เงินถุงแดงข้างแท่นบรรทม (เงินถุงแดงข้างพระที่) นั้น จึงเรียกว่า "คลังข้างที่" เดิมเป็นคำเรียกกันแต่ในราชสำนักฝ่ายใน ต่อมาจึงเรียกว่า “เงินพระคลังข้างที่”มาจนสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงเป็นคำเรียกอย่างเป็นทางราชการ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้นเป็นกรมหนึ่ง5 จึงกล่าวได้ว่าเงินถุงแดงเป็นที่มาของชื่อ พระคลังข้างที่ ก็ว่าได้
ที่มาของเงินถุงแดง
ไทยทำการค้ากับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น ต่อมาสมัยอยุธยามีหลักฐานว่าค้าขายกับโปรตุเกส ฮอลันดา สเปน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย อาหรับ ฝรั่งเศส ฯลฯ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ การค้าขายกับต่างประเทศซบเซาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แต่ก็เริ่มฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยกรุงธนบุรี โดยเริ่มค้ากับจีน ฮอลันดา และอังกฤษ ต่อเนื่องมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงหามาได้เองเป็นจำนวนมากก่อนขึ้นครองราชย์ ด้วยพระปรีชาสามารถด้านจัดการการค้าสำเภา ซึ่งนอกจากจะทรงจัดการค้าสำเภาหลวงแล้ว ยังทรงค้าสำเภาเป็นการส่วนพระองค์ด้วย เงินที่ได้จากการค้าและที่เหลือจากทูลเกล้าฯ ถวายกับทรงใช้ราชการอย่างอื่นๆ ก็ทรงทำบุญกุศลต่างๆ แล้วเก็บเข้าถุงแดงไว้ พระราชทรัพย์เหล่านี้บรรจุไว้ในถุงผ้าสีแดง และเก็บไว้ในพระคลังข้างที่มาตลอดรัชกาล เงินที่อยู่ในถุงสีแดงเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "เงินถุงแดง” และได้ถูกนำออกมาใช้เป็นเงินไถ่บ้านไถ่เมือง ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงในสมัยรัชกาลที่ ๕
มีข้อสังเกตว่าในคติจีนมีความเชื่อว่าถุงผ้าสีแดงสามารถขับไล่ภยันตรายและสิ่งชั่วร้ายได้6 ถุงผ้าสีแดงสื่อความหมายอันเป็นมงคล และความโชคดี สันนิษฐานว่าการเก็บเงินใส่ถุงผ้าสีแดงอาจได้รับอิทธิพลจากคตีจีนดังกล่าวซึ่งสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับจีนอย่างเฟื่องฟู สอดคล้องกับเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองของประเทศในยามคับขัน เงินถุงแดงจึงมีส่วนช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก จะเห็นได้ว่าคติการเก็บเงินใส่ถุงผ้าสีแดงดังกล่าวน่าจะสัมพันธ์กับการนำเงินใส่ซองสีแดงมอบให้ลูกหลานในเทศกาลหรืองานมงคลของจีน อันแสดงถึงความมั่งคั่งร่ำรวย ความสุขสวัสดิมงคลและความโชคดีด้วยเช่นกัน
เหรียญที่อยู่ในเงินถุงแดง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามมีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ สื่อที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและใช้ในระบบเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างประเทศ จึงน่าจะเป็นเงินเหรียญต่างประเทศที่มีการยอมรับกันในยุคนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเงินต่างประเทศ เช่น เงินเม็กซิโก เงินเปรู และเงินรูปีของอินเดีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองไทยแล้ว แม้ว่าสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ จะเป็นเงินพดด้วงก็ตาม สันนิษฐานว่าเงินใน ถุงแดงน่าจะเป็นเงินต่างประเทศที่ใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น ดังเช่น เหรียญรูปนกของเม็กซิโก ซึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่หลายชาติให้การยอมรับในสมัยนั้น
เหรียญนกเม็กซิโกนี้มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนมีรูปนกอินทรีย์อยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีย์กางปีกปากคาบอสรพิษ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก) ไทยจึงเรียก "เหรียญนก" มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินในเวลานั้นอยู่ที่ ๔๘ เหรียญนก ต่อเงินไทย ๑ ชั่ง (๘๐ บาท) เงิน ๑ บาทมีค่าเท่ากับเงิน ๒ ฟรังก์ และเงิน ๑ เหรียญนกเท่ากับเงิน ๓ ฟรังก์ ดังนั้น ๑ ชั่งเท่ากับ ๑๕๐ ฟรังก์7 สอดคล้องกับเอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ กล่าวว่า สมเด็จกรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลฯ รัชกาลที่ ๕ ว่า จ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๓๖ เป็นเงินไทยรวม ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาทกับอีก ๒ อัฐ๘8 จากจำนวนเงินดังกล่าวหากคำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนข้างต้นแล้ว ค่าปรับ ๓ ล้านฟรังก์เท่ากับเงินไทย ๑ ล้านหกแสนบาท หรือประมาณ ๒ หมื่นชั่งแล้ว ดังนั้นเท่ากับเงินเหรียญเม็กซิกัน ๙ แสนหกหมื่นเหรียญนก สำหรับจำนวนเงินที่กล่าวในพงศาวดารก่อนสวรรคตจึงน่าจะหมายถึงเงินในพระคลังหลวงมากกว่าเป็นเงินถุงแดง เพราะเงินจำนวน ๔ หมื่นชั่งที่ทรงขอไว้ ๑ หมื่นชั่ง เหลือ ๓ หมื่นชั่ง เมื่อคำนวณแล้วคิดเหลือเป็นเงินบาทประมาณ ๒ ล้านสี่แสนบาท หรือประมาณ ๔ ล้านห้าแสนฟรังก์ ซึ่งมีมากกว่าเงินที่ฝรั่งเศสเรียกร้องเสียดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เงินจำนวนที่กล่าวถึงในพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ จึงไม่ได้หมายถึง เงินถุงแดง เพราะตามประวัติกล่าวว่า เงินถุงแดงที่มีอยู่เมื่อนำไปสมทบกับเงินในพระคลังหลวงที่มีอยู่ก็ยังมีไม่เพียงพอ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร ต้องหาเงินมาช่วยสมทบจนครบ
นอกจากนี้จากข้อสันนิษฐานที่เชื่อว่าเหรียญนกเม็กซิโกเป็นเหรียญเงินในถุงแดง เนื่องจากเหรียญนกเม็กซิกันที่พบเป็นรูปพิมพ์ มีความพิเศษที่พิมพ์กำกับปี ค.ศ.๑๘๒๑-๑๙๒๑ (พ.ศ.๒๓๖๔-๒๔๖๔) ไว้ว่าเป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ เหรียญดังกล่าวน่าจะเป็นเหรียญเงินที่ใช้ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) สอดคล้องกับหลักฐานเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินค่าปรับสงครามของไทยที่ชำระด้วยเหรียญเม็กซิกัน เขียนในหนังสือพิมพ์สองฉบับ คือ ๑.หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Monde Illustre' ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๙๓ (พ.ศ.๒๔๓๖) และ ๒.หนังสือ The People and Politics of the Far East ค.ศ.๑๘๙๖ (พ.ศ.๒๔๓๙) เขียนโดย Henry Normal9 เคยมีผู้ศึกษาได้ยืนยันและเชื่อว่า เงินเหรียญจากถุงแดง คือ เงินเม็กซิกัน ที่ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองไทยจากฝรั่งเศส เมื่อเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) หลังจากที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สวรรคตแล้ว ๔๓ ปี สำหรับจำนวนเงินถุงแดง ในเอกสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเงินเม็กซิกันที่บรรทุกมาใส่เรือมาจากสยามในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มีน้ำหนักประมาณ ๒๓ ตัน10 และในสันนิษฐานว่า หากเงินในถุงแดงเป็นเหรียญนกเม็กซิกันทั้งหมด น่าจะมีจำนวนไม่เกิน ๙ แสนเหรียญนก ซึ่งใช้เป็นเงินที่นำมาใช้สมทบจ่ายเป็นเงินค่าปรับสงครามในครั้งนี้
เรื่องราวและความสำคัญของเงินถุงแดง
เรื่องราวเงินถุงแดงเล่ากันต่อมาว่า ภายหลังเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในการนำมา “ไถ่บ้านไถ่เมือง” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กรณีเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ได้ช่วยรักษาเอกราชของชาติบ้านเมืองไว้ ทำให้สยามประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เรื่องราวเกี่ยวกับเงินถุงแดง มีคำอธิบายสมัยหลังเกี่ยวกับเรื่องราวของ เงินถุงแดง ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง เงินพระคลังข้างที่ และคลังข้างที่ ไว้ความว่า "...เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่ายการอันใดโดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไม่ทราบแน่ เห็นจะเรียกกันว่า "เงินข้างที่" ทำนองเดียวกับเรื่องเงินที่เอาตามเสด็จไปไหนๆ ว่า "เงินท้ายที่นั่ง" และคงแบ่งไปจากเงินพระคลังในนั่นเอง ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บหอมรอบริบเงินซึ่งเป็นส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นในเงินข้างที่อีกมาก สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีเงินซึ่งเรียกกันว่า "เงินถุงแดง" สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ กำปั่นเก็บเงินข้างที่มีมากขึ้น หรือจะต้องเก็บในห้องหนึ่งต่างหากเหมือนอย่างคลัง จึงเรียกว่า "คลังข้างที่" เกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่ดูเหมือนจะเรียกกันแต่ในราชสำนักฝ่ายใน มาจนในรัชกาลที่ ๔ จึงเรียกปรากฏในทางราชการ...ที่ตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้นเป็นกรมหนึ่งต่างหากนั้น เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕..."11
เหตุการณ์ วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๓๖) ฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลสยามมีอยู่ข้อหนึ่งที่สยามต้องจ่ายเงิน ๓ ล้านฟรังก์ โดยชำระเป็นเงินเหรียญทันทีเป็นการชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ โดยกำหนดภายใน ๔๘ ชั่วโมง มิฉะนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยทันที และสั่งทูตฝรั่งเศสออกจากสยาม โดยสยามอาจตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ ในเรื่อง สืบจากภาพอิสรภาพของสยามแลกด้วยเงินค่าไถ่ ๓ ล้านฟรังก์ ได้กล่าวว่า “ปัญหาของไทยในตอนนั้นคือ การที่จะแสวงหาเงินจำนวนมากนั้นมาชำระให้ทันเส้นตาย เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานจำนวนเงินในพระคลังไม่เพียงพอกับจำนวนที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง แต่แล้วมีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทูลเตือนให้ทราบถึงเงินพระคลังข้างที่จากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสะสมไว้จำนวนหนึ่งในถุงแดง”12 เงินถุงแดงจึงถูกนำมาใช้สมทบเป็นค่าปรับที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง
นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเงินถุงแดงไถ่เมือง ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง "เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.๕" มีว่า “...ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากว่าต้องการเป็น "เงินกริ๋งๆ" คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง"ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้านายในพระราชวังเอาเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิฐกันทั้งกลางคืนกลางวัน...”13
ดังนั้นเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บสะสมไว้เมื่อครั้งทำการค้าสำเภากับชาวต่างประเทศและพระราชทานให้แก่แผ่นดิน สำหรับใช้ในยามที่บ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน นำมาไถ่บ้านไถ่เมือง รักษาเอกราชของชาติไว้ให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยนำไปสมทบกับเงินในท้องพระคลังหลวงที่มีอยู่นำไปเป็นค่าปรับสงครามแก่ฝรั่งเศส ก็ยังไม่พอกับเงิน ๓ ล้านฟรังก์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการ จึงช่วยกันถวายเงิน ทองและสร้อย เพชรนิลจินดาไปแลกเป็นเงินเหรียญ รวบรวมใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูต้นสนไปยังท่าราชวรดิษฐ์กันตลอดทั้งวันทั้งคืนออกไปหลายเที่ยว เนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง ๔๘ ชั่วโมง กล่าวกันว่าน้ำหนักของเงินเหรียญที่ใส่รถออกไปหลายเที่ยว ทำให้ถนนเป็นรอยสึกเพราะน้ำหนักของเงินเหรียญจำนวนมากมายมีน้ำหนักถึง ๒๓ ตัน14 เรื่องราวเกี่ยวกับเงินถุงแดง มีการกล่าวถึงไว้มาก จึงเป็นไปได้ว่า เรื่อง เงินถุงแดง ที่นำมาไถ่บ้านไถ่เมืองนั้น น่าจะเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ที่คนไทยควรจดจำ
สรุป
เงินถุงแดง ไม่ได้เป็นเพียงแต่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงนำมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เท่านั้น แต่เรื่องราวของเงินถุงแดงยังได้สะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยรัชกาลที่ ๓ และได้ส่งอิทธิพลให้เกิดเหรียญกษาปณ์ไทยในสมัยต่อมา นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็น พระราชวินิจฉัยและพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่ทรงเล็งเห็นภัยที่คุกคามเอกราชของประเทศชาติของชาติตะวันตกในยุคนั้น กับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดกับสยามประเทศในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่ทรงคาดการณ์ไว้ พระราชดำรัสของพระองค์ซึ่งได้กล่าวในข้างต้นเป็นสิ่งที่ทันสมัยและเป็นสิ่งที่คนไทยในปัจจุบันควรยึดถือปฏิบัติตาม เงินถุงแดงจึงเป็นเหมือนสิ่งเตือนสติคนไทยให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท รู้จักเก็บออมไว้เพื่อไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นดังนั้นเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสะสมและพระราชทานให้แก่แผ่นดินนำมาใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองจนสามารถช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไว้ได้ จึงถือเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยให้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยและสยามประเทศ.
No comments:
Post a Comment